วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หลักการเขียนบทเบื้องต้น



                                หลักการเขียนบทเบื้องต้น
                     

              เรื่อง (story) หมายถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นและดำเนินไปสู่จุดสิ้นสุด เรื่องอาจจะสั้นเพียงไม่กี่นาที อาจยาวนานเป็นปี หรือไม่รู้จบ (infinity) ก็ได้ สิ่งสำคัญในการดำเนินเรื่อง คือปมความขัดแย้ง (conflict) ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำ ส่งผลให้เกิดเป็นเรื่องราว
         
             แนวความคิด (concept) เรื่องที่จะนำเสนอมีแนวความคิด (Idea) อะไรที่จะสื่อให้ผู้ชมรับรู้
            
             แก่นเรื่อง (theme) คือประเด็นเนื้อหาสำคัญหรือแกนหลัก (Main theme) ของเรื่องที่จะนำเสนอ ซึ่งอาจประกอบด้วยประเด็นรองๆ (sub theme) อีกก็ได้ แต่ต้องไม่ออกนอกแนวความคิดหลัก
           
             เรื่องย่อ (plot) เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาใหม่ เรื่องที่นำมาจากเหตุการณ์จริง เรื่องที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรม หรือแม้แต่เรื่องที่ลอกเลียนแบบมาจากภาพยนตร์อื่น สิ่งแรกนั้นเรื่องต้องมีความน่าสนใจ มีใจความสำคัญชัดเจน ต้องมีการมีการตั้งคำถามว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น (What...if...?) กับเรื่องที่คิดมา และสามารถพัฒนาขยายเป็นโครงเรื่องใหญ่ได้

            โครงเรื่อง (treatment) เป็นการเล่าเรื่องลำดับเหตุการณ์อย่างมีเหตุผล เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์จะต้องส่งเสริมประเด็นหลักของเรื่องได้ชัดเจน ไม่ให้หลงประเด็น โครงเรื่องจะประกอบด้วยเหตุการณ์หลัก (main plot) และเหตุการณ์รอง (sub plot) ซึ่งเหตุการณ์รองที่ใส่เข้าไป ต้องผสมกลมกลืนเป็นเหตุเป็นผลกับเหตุการณ์หลัก

            ตัวละคร (character) มีหน้าที่ดำเนินเหตุการณ์จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่อง ตัวละครอาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเป็นนามธรรมไม่มีตัวตนก็ได้ การสร้างตัวละครขึ้นมาต้องคำนึงถึงภูมิหลังพื้นฐาน ที่มาที่ไป บุคลิกนิสัย ความต้องการ อันก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆของตัวละครนั้นๆ ตัวละครแบ่งออกเป็นตัวแสดงหลักหรือตัวแสดงนำ และตัวแสดงสมทบหรือตัวแสดงประกอบ ทุกตัวละครจะต้องมีส่งผลต่อเหตุการณ์นั้นๆ มากน้อยตามแต่บทบาทของตน ตัวเอกย่อมมีความสำคัญมากกว่าตัวรองเสมอ

               บทสนทนา (dialogue) เป็นถ้อยคำที่กำหนดให้แต่ละตัวละครได้ใช้แสดงโต้ตอบกัน ใช้บอกถึงอารมณ์ ดำเนินเรื่อง และสื่อสารกับผู้ชม ภาพยนตร์ที่ดีจะสื่อความหมายด้วยภาพมากกว่าคำพูด การประหยัดถ้อยคำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ความหมายหรืออารมณ์บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำมาช่วยเสริมให้ดูดียิ่งขึ้นก็ได้

     โครงสร้างการเขียนบท


           จุดเริ่มต้น (beginning) ช่วงของการเปิดเรื่อง แนะนำเรื่องราว ปูเนื้อเรื่อง

         การพัฒนาเรื่อง (developing) การดำเนินเรื่อง ผ่านเหตุการณ์เดียวหรือหลายเหตุการณ์ เนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนมากขึ้น

           จุดสิ้นสุด (ending) จุดจบของเรื่อง แบ่งออกเป็นแบบสมหวัง (happy ending) ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ และแบบผิดหวัง (tragedy/ sad ending) ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ

โครงเรื่องสู่การเป็นบท

                เมื่อสามารถคิดและเขียนเรื่องโดยรู้จักที่จะประนีประนอมกับตัวเองได้แล้ว ก็มาสู่ขั้นการเขียนบท ทุกอย่างในขั้นตอนนี้จะง่ายขึ้นเมื่อคุณมีโครงเรื่องที่เรียบร้อยดีอยู่แล้ว คุณก็แค่ยึดเอาโครงเรื่องนี้มาไว้กับตัว และจำหลักการง่ายๆ ดังต่อไปนี้ที่คุณควรจะยึดติดเอาไว้

               1.จำไว้เสมอว่าตัวเองกำลังเล่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร หมายความว่าพยายามยึดเรื่องให้อยู่กับประเด็นหลักเอาไว้ เพราะว่ามีคนทำหนังมากมายที่หลงทางไปกับประเด็นแยกย่อย หรือเพิ่มเติมเนื้อหาบางอย่างเข้าไปทั้งๆ ที่มันไม่ได้ส่งผลใดๆ กับเรื่องราวที่กำลังเล่าอยู่เลย ยิ่งเป็นหนังสั้นด้วยแล้ว การเดินเข้าสู่ประเด็นหลักอย่างมั่นคงยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณกำลังเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง และจีบเธอโดยการส่งดอกไม้ทุกวัน คุณอาจจะขยายเรื่องราวว่า ชีวิตชายหนุ่มคนนี้เป็นอย่างไร เพื่ออธิบายว่าทำไมเขาถึงมาชอบหญิงสาวคนนี้ และอาจจะอธิบายเกี่ยวกับตัวหญิงสาวได้ว่า ชีวิตของเธอเป็นอย่างไรและทำไมเธอถึงกลายมาเป็นคนที่ชายหนุ่มหลงรัก แต่เรื่องจะหลงทางทันทีหากคุณไปเล่าเรื่องของแม่พระเอก หรือพ่อของนางเอก โดยที่มันไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการที่พระเอกตามจีบนางเอก เว้นแต่ว่าจะเป็นเรื่องความรักของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับความรักของรุ่นลูกด้วยได้ การเล่าเรื่องที่ออกนอกประเด็นนั้นจะนำพามาทั้งความสับสนแก่คนดูว่า ตกลงแล้วคนทำหนังพยายามจะบอกอะไรกันแน่ ยังอาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายเล็กน้อยขึ้นมาอีกด้วย การแก้ปัญหาตรงนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับการวางโครงเรื่องรัดกุมแล้ว ยังอยู่ที่การเขียนบทที่มีสมาธิอีกด้วย

                   2. เดินเรื่องไปข้างหน้าอยู่ตลอด อย่างที่เกริ่นไว้ในหัวข้อการคิดเรื่อง การที่ทำให้เรื่องเดินหน้าไปตลอดนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังที่ต้องการให้คนดูได้รับความบันเทิง ยกตัวอย่างเช่น หากเราปูเรื่องไว้แล้วว่าพระเอกทำงานออฟฟิตที่น่าเบื่อหน่าย เพื่อนๆ ไม่ชอบหน้าเขา การบอกเล่าตรงนี้ควรจะเป็นแค่ครั้งหรือสองครั้งก็ได้ แต่หากมีบ่อยๆ ซ้ำๆ เกินควรอาจจะทำให้คนดูรู้สึกเบื่อหน่ายเรื่องที่กำลังดูอยู่ และพาลหมดความสนใจแก่ตัวหนังทั้งเรื่องไปได้

                    3.การยึดหลัก 3 องค์ ปรกติถ้าเป็นตำราเขียนบท เรื่องของ 3 องค์มักจะมาเป็นลำดับแรก แต่สำหรับผม ผมมองว่าเรื่องของโครงสร้างการเขียนบทนั้น มันยังจำเป็นน้อยกว่า 2 หัวข้อก่อนหน้านี้ หลัก 3 องค์ที่ว่าซึ่งคนที่เรียนเขียนบทหนังหรือบทละครมาก็คงจะรู้จักกันดีนะครับ

องค์แรกก็คือการปูเรื่อง เปิดตัวละคร จนเกิดเหตุการณ์พลิกผันกับตัวละคร นำไปสู่องค์ที่ 2เช่น พระเอกเป็นพนักงานออฟฟิตธรรมดา โดยเจ้านายกดขี่ แฟนแอบนอกใจไปเป็นชู้กับเพื่อน แล้วจู่ๆ ก็มีคนเดินมาบอกว่า เขาคือสุดยอดนักฆ่าที่มีพลังมหาศาล และอยากชวนเขาเข้าร่วมองค์กร และพระเอกได้เจอฝ่ายเหล่าร้ายตามไล่ล่า จนตัดสินใจว่าจะต้องเข้าร่วมกับองค์กรนี้ 


                                                             


องค์ที่สองก็คือส่วนกลางเรื่อง เล่าเรื่องที่ปูไปสุดจุดหักเหอีกครั้งก่อนจะเข้าส่ climax (ช่วงจบ)ตัวอย่างเช่น พระเอกมาฝึกฝนการต่อสู้กับองค์กรที่ชวนเขามาเข้าพวกจนสำเร็จสุดยอดวิชา แต่กลายเป็นว่าองค์กรนี้แท้จริงชั่วร้าย เลยต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรระหว่างหนีไปหรือทำลายองค์กรนี้

               องค์ที่สามก็คือบทสรุปของเรื่องน่ะแหละครับ ตัวอย่างก็เช่น พระเอกตัดสินใจจะไม่หนีและสู้กับองค์กรร้าย การต่อสู้ดุเดือดเลือดพล่านแต่สุดท้ายพระเอกก็เป็นฝ่ายกุมชัยชนะ เรื่องจบลงโดยการที่พระเอกตัดสินใจใช้ความสามารถของตนผดุงคุณธรรม
คุณสามารถนำหลัก 3 องค์ไปปรับใช้ได้กับการเล่าเรื่องทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโรแมนติก สยองขวัญ หรือหนังแอ็คชั่นเลือดท่วม จนเมื่อคุณแม่นกับการทำหนังตามหลัก 3 องค์แล้ว คุณก็สามารถจะ “แหกกฎ” โดยการไม่ทำตามนี้เลยก็ได้ เพราะมันอาจจะนำมาซึ่งสิ่งแปลกใหม่และสร้างสรรค์ แต่ก่อนหน้านั้น มันก็เหมือนกับที่เขาว่ากันว่า ก่อนจะวิ่งได้ต้องหัดเดินก่อนน่ะแหละครับ เพราะถ้าเกิดยังเดินไม่ได้แล้วมาวิ่งเลยนี่ โอกาสที่จะสะดุดหกล้มหัวคะมำก็เป็นไปได้สูงทีเดียว

4. เขียนให้คนอื่นๆ สามารถเห็นภาพตามไปด้วยได้ คนทำหนังทุกคนไม่ควรทำหนังคนเดียวครับ เพราะว่ามันเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้เพราะไหนจะต้องมีสมาธิกับการกำกับ มีสมาธิว่าต่อไปจะต้องถ่ายฉากอะไรต่อ จะพักกินข้าวตอนไหน จะวางมุมกล้องยังไง ฯลฯ สารพัดครับ การเขียนบทที่สามารถทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจได้ง่าย มองเห็นภาพในหนังได้ตรงกัน และทำให้การทำงานง่ายขึ้น


                                                   


ที่มา  silpakorn-kru.blogspot.com/2013/08/blog-post_19.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น